วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติ
ในโลกนี้มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายทั้งในอากาศ บนผิวโลก ใต้ผิวโลก มีสภาพทั้งของแข็ง ของเหลวก๊าซ บางชนิดมีการเจริญเติบโตได้ บางชนิดไม่เติบโตแต่มีการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น เกิดการผุพังสลายไปนักอนุรักษ์วิทยาได้แบ่งประเภทของทรัพยากรธรรมชาติไว้ 3 ประเภทคือ
1) ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่หมดสิ้น (Non-Exhausting Natural Resources) หรือทรัพยากรธรรมชาติที่มีใช้ตลอด (Inexhuastible Natural Resources) เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ บางชนิดมนุษย์ขาดเป็นเวลานานได้ บางชนิดขาดไม่ได้แม้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ก็อาจถึงตายได้ ทรัพยากรดังกล่าวได้แก่
ก) อากาศ มีอยู่อย่างสมบูรณ์ในโลก จำเป็นและสำคัญต่อมนุษย์ สัตว์ พืช สิ่งมีชีวิตทุกชนิด
ข) น้ำ (ในวัฏจักร) หมายถึง น้ำในลักษณะการเก็บน้ำแล้วแปรสภาพเป็นน้ำไหลบ่า น้ำท่า น้ำในลำน้ำ น้ำใต้ดิน น้ำขัง และน้ำในมหาสมุทร
มีความจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต มีการหมุนเวียน ไม่จบสิ้น โดยทั่วไปมีปริมาณคงที่ในแต่ละแห่งของแต่ละปี นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรแสงอาทิตย์ ดิน ชั้นบรรยากาศ เป็นต้น



2) ทรัพยากรธรรมชาติที่ทดแทนได้ (Replaceable or Renewable Natural Resources) เป็นทรัพยากรที่มีความจำเป็นต่อมนุษย์ในการดำรงชีพเพื่อตอบสนองปัจจัยสี่และ ความสะดวกสบาย เมื่อใช้แล้วสามารถเกิดทดแทนขึ้นได้ ซึ่งการทดแทนนั้นอาจใช้ระยะเวลาสั้นหรือยาวนานไม่เท่ากัน ทรัพยากรดังกล่าวได้แก่
   ก) น้ำที่ใช้ได้ หมายถึงน้ำในที่ใดที่หนึ่งเมื่อใช้หมดแล้ว จะมีการทดแทนได้ด้วยฝนที่ตกตามปกติ ในแต่ละแห่งจะมีฝนตกเกือบเท่า ๆ กันในแต่ละปี นอกจากเกิดความแห้งแล้งผิดปกติเท่านั้น
                   ข) ดิน เป็นปัจจัยสำคัญที่ให้อาหารเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ซึ่งกำเนิดจากพื้นดิน ปัจจัยที่ทำให้เกิดดิน คือ หิน อากาศ พืช ระยะเวลา ลักษณะภูมิประเทศ การทดแทนต้องใช้ระยะเวลานาน
นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรชนิดอื่นอีก เช่น ทรัพยากรประมง ทรัพยากรเกษตร (พืชผัก เนื้อสัตว์) พืช สัตว์ป่า ป่าไม้ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

3) ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป (Exhausting Natural Resources) หรือทรัพยากรที่ไม่สามารถทดแทนได้ (Irreplaceable Natural Resources) เป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถจะทำมาทดแทนได้ เมื่อใช้หมดไป เช่น แร่ โลหะ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน เป็นต้น ซึ่งทรัพยากรดังกล่าวจำเป็นมากต่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนอกจากนี้พื้นที่ในลักษณะ ธรรมชาติ (Land in Natural Condition) ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ทดแทนไม่ได้ เพราะเมื่อถูกทำลายลงแล้ว ไม่สามารถทำให้เหมือนสภาพเดิมได้ทั้งในส่วนประกอบต่าง ๆ และทัศนียภาพ

ประเภทของสิ่งแวดล้อม
จากความหมายของสิ่งแวดล้อมดังกล่าวสามารถแบ่งสิ่งแวดล้อมได้เป็น 2 ประเภท คือ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (Natural environment) และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Mode Environment)
1. สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ( Natural Environment)
        แบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย คือ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต) และสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต
        1. 1 สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต (Abiotic Environment) แบ่งได้ดังนี้
             1.1.1 บรรยากาศ (Atmosphere) หมายถึงอากาศที่ห่อหุ้มโลก ประกอบด้วย กา๙ชนิดต่างๆ เช่น โอโซน ไนโตรเจน ออกซิเจน อาร์กอน คาร์บอนไดออกไซด์ ฝุ่นละออง และไอน้ำ
             1.1.2 อุทกภาค (Hydrosphere) หมายถึงส่วนที่เป็นน้ำทั้งหมดของพื้นผิวโลก ได้แก่ มหาสมุทร ทะเล แม่น้ำ ฯลฯ
             1.1.3 ธรณีภาค หรือ เปลือกโลก(Lithosphere) หมายถึง ส่วนของโลกที่เป็นของแข็งห่อหุ้มอยู่รอบนอกสุด ของโลกประกอบด้วยหินและดิน

        1.2 สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต (Biotic Environment) ได้แก่ พืช สัตว์ และมนุษย์

2 . สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น(Man-Mode Environment)
        แบ่งได้ 2 ประเภทดังนี้
        2.1 สิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม (Concrete Environment) ได้แก่ บ้านเรือน ถนน สนามบิน เขื่อน โรงงาน วัด

        2.2 สิ่งแวดล้อมที่เป็นนามธรรม (Abstract Environment)ได้แก่ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา กฎหมายระบบเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น