วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

มลภาวะสิ่งแวดล้อม


มลสารและแหล่งมลสาร

             มลพิษ  หมายถึง  ภาวะของสภาพแวดล้อม  ที่มีองค์ประกอบไม่เหมาะต่อการนำมากใช้ประโยชน์ แต่กลับเป็นพิษหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่มนุษย์ เช่น อากาศที่มีก๊าซต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สภาพแวดล้อมที่มีเสียงต่างๆ รบกวนมาก ดินที่มีการสะสมของยาฆ่าแมลงศัตรูพืชสูง น้ำที่มีคราบน้ำมัน เป็นต้น  สารที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษ เรียกว่า สารมลพิษ
              สารมลพิษ  คือ  ตัวมลพิษหรือสารวัตถุอื่นใดก็ตามที่สร้างอันตรายหรือความเปลี่ยนแปลงอันไม่น่าพึงพอใจให้กับสิ่งมีชีวิตรายตัว  ต่อประชากร ชุมชน หรือระบบนิเวศ เกินกว่าสภาพที่จะสามารถพบโดยทั่วไปในสิ่งแวดล้อม

มลภาวะทางอากาศ
             ภาวะมลพิษทางอากาศ (Air Pollution) หมายถึง ภาวะที่อากาศมีการเจือปนของสารหรือสิ่งปนเปื้อนในปริมาณที่มากพอ ทำให้อากาศเสื่อมคุณภาพเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และพืช มลสาร (Pollutant) ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศมีทั้งในรูปของแข็ง ฝุ่นละออง ไอระเหยหรือก๊าซ รวมทั้งกลิ่น เขม่า ควัน สารกัมมันตรังสี สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ปรอท ตะกั่ว ออกไซด์ของไนโตรเจน และคาร์บอน เป็นต้น


มลพิษทางน้ำ
              ภาวะมลพิษทางน้ำ ( Water Pollution ) หมายถึง สภาวะที่น้ำมีคุณภาพเปลี่ยนไปจากธรรมชาติเดิม จนมีสภาพที่เลวลง และส่งผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในน้ำ  
ลักษณะของภาวะมลพิษทางน้ำ
       1. น้ำที่มีสารอินทรีย์ปนอยู่มาก จุลินทรีย์ที่มีอยู่ก็จะมีการเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วโดยมีการใช้ออกซิเจน จึงมีผลทำให้ปริมาณออกซิเจนละลายอยู่ในน้ำเหลือน้อย ในบางครั้งจะเห็นน้ำมีสีดำคล้ำ และส่งกลิ่นเหม็น เนื่องจากการย่อยสลายของแบคทีเรียชนิดที่ไม่ใช้ออกซิเจนมีการปล่อยก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่าออกมา
       2. น้ำที่มีเชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ โปรโตซัว เชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคทางเดินอาหาร โรคตับ โรคพยาธิและโรคผิวหนัง เป็นต้น
       3. น้ำที่มีคราบน้ำมันหรือไขมันเจือปนในปริมาณมากจะเป็นอุปสรรคต่อการถ่ายเทออกซิเจนลงสู่แหล่งน้ำ หรือการดำรงชีวิตของสัตว์และพืชน้ำ
       4. น้ำที่มีเกลือละลาย ซึ่งอาจละลายจากดินลงมาหรือน้ำทะเลไหลซึมเข้ามาเจือปนจนน้ำเสื่อมคุณภาพไม่เหมาะในการใช้อุปโภค บริโภคหรือการเกษตรกรรม
       5. น้ำที่มีสารพิษเจือปน เช่น สารประกอบของปรอท ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู เมื่ออยู่ในระดับอันตรายจะส่งผลต่อสัตว์น้ำและคนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น บริโภคพืชผัก สัตว์น้ำ
       6. น้ำที่มีสารกัมมันตภาพรังสีเจือปน อาจเกิดขึ้นได้จากธรรมชาติจากการสลายตัวของแร่หินหรือเกิดจากโรงงานนิวเคลียร์ปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ
       7. น้ำที่มีสารแขวนลอย ได้แก่ น้ำที่มีสิ่งต่างๆ แขวนลอยอยู่จำนวนมาก ทำให้น้ำมีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เกี่ยวกับความโปร่งแสง สี เป็นต้น
       8. 
น้ำที่มีอุณหภูมิสูง ส่วนใหญ่เกิดจากการระบายน้ำหล่อเย็นจากโรงงานอุตสาหกรรมลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และการแพร่พันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในน้ำ 


มลพิษทางเสียง
               ภาวะมลพิษทางเสียง ( Noise Pollution )  หมายถึง สภาวะเสียงที่ดังเกินไปจนก่อให้เกิดความรำคาญ หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบการได้ยินของมนุษย์และสัตว์
แหล่งกำเนิดภาวะมลพิษทางเสียง
              1. การจราจร มาจากยานพาหนะประเภทต่างๆ เช่น รถไฟ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก เรือหางยาว และเครื่องบิน เป็นต้น
              2. สถานประกอบการต่างๆ ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง อู่ซ่อมรถ เป็นต้น
              3. ชุมชนและสถานบริการ ได้แก่ เสียงจากคนหรือเครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ และเสียงในย่านธุรกิจการค้า สถานบันเทิงเริงรมย์ เป็นต้น 
ระดับเสียงจากกิจกรรมต่าง ๆ



มลภาวะจากขยะ
          ขยะมูลฝอย( Solid Waste ) หมายถึง เศษสิ่งเหลือใช้และสิ่งปฏิกูลต่างๆ ซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และสัตว์ รวมถึงสิ่งอื่นใดที่เก็บกวาดจากถนน ตลาด หรือที่อื่นๆ ทั้งจากการผลิต การบริโภค การขับถ่าย การดำรงชีวิต และอื่นๆ
ประเภทของขยะ
       1. ขยะเปียก หมายถึง ขยะที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น เศษอาหาร พืชผัก เปลือกผลไม้ เป็นต้น
       2. ขยะแห้ง หมายถึง ขยะที่ย่อยสลายได้ยาก เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ เศษผ้า ไม้ ยาง เป็นต้น
       3. ขยะอันตราย ได้แก่ สารเคมี วัตถุมีพิษ ซากถ่านไฟฉาย หลอดไฟ และขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาล



มลภาวะจากของเสียอันตราย        
             ของเสียอันตราย (Hazardous Waste) หมายถึง ของเสียใดๆ ที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ รวมทั้งกาก ตะกอน หรือสิ่งตกค้างที่อยู่ในสภาพทั้งของแข็ง ของเหลว และก๊าซ 
ประเภทของของเสียอันตราย
       ของเสียอันตรายแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ตามคุณสมบัติของของเสียอันตราย ได้แก่ 
           1. ประเภทติดไฟง่าย เช่น ตะกอนน้ำมัน ตะกอนสี เป็นต้น
           2. ประเภทสารกัดกร่อน เช่น น้ำยาฟอกขาว น้ำยาขัดพื้น เป็นต้น
           3. ประเภทที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาระเบิดเมื่อสัมผัสกับน้ำหรืออากาศ เช่น สารเคมีที่เสื่อมสภาพ
           4. ประเภทสารพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง สารปราบศัตรูพืช เป็นต้น
           5. ประเภทวัตถุระเบิด เช่น พลุ ดอกไม้ไฟ ดินประสิว เป็นต้น
           6. ประเภทสารที่สามารถชะล้างได้ เป็นสารที่ไม่ใช้แล้ว มีปริมาณโลหะหนักหรือวัตถุมีพิษปนเปื้อนอยู่ในน้ำสกัดนั้น เท่ากับหรือมากกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น ตะกั่ว ปรอท เป็นต้น
           7. ประเภทกากกัมมันตรังสี เป็นวัตถุที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้ว อาจอยู่ในรูปของแข็งหรือของเหลวที่มีการเปรอะเปื้อนด้วยสารกัมมันตรังสีในระดับความแรงของรังสีสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
           8. 
ประเภทที่ทำให้เกิดโรค เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ 


มลพิษทางอาหาร
              อาหารเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์  มนุษย์ต้องบริโภคอาหารวันละหลายๆ มื้อ ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายเกิดพลังงานสามารถเคลื่อนไหวไปมา และกระทำกิจกรรมต่างๆ ได้   ทั้งนี้อาหารที่มนุษย์บริโภคเข้าไปนั้นต้องสะอาด ปราศจากเชื้อโรค และสิ่งเจือปนที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย  หากในอาหารมีสิ่งแปลกปลอมเจอปน  ร่างกายจะเกิดปฏิกริยาต่อต้านขึ้น เราสามารถแบ่งสารแปลกปลอมออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
       1. พิษที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของอาหารเอง  เช่น  เห็ดพิษ  ผักหวานป่า  ปลาบางชนิด  หอย  แมงดาทะเล  เป็นต้น
       2. พิษที่เกิดจากการเจือปน  แบ่งเป็นประเภทย่อยๆ ได้ดังนี้
           2.1 สิ่งเจือปนในอาหารที่ไม่เจตนา ได้แก่             
               - จุลินทรีย์ในอาหาร  ที่อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ กัน เช่น จากแหล่งกำเนิดที่ไม่สะอาด  วัตถุดิบมีคุณภาพต่ำ  กรรมวิธีการผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ  การรักษาความสะอาดของผู้ปรุงอาหาร    ตลอดจนภาชนะที่ใช้ในการบรรจุอาหาร  ซึ่งพิษจากจุกลินทรีย์มีหลายชนิด  เช่น  แบคทีเรีย  เชื้อรา  เชื้อไวรัส  
               - โลหะเป็นพิษในอาหาร  มนุษย์อาจได้รับพิษโลหะทางอ้อมจากพืชและสัตว์ที่รับประทาน โดยกระบวนการของห่วงโซ่อาหาร  คือ  โรงงานอุตสาหกรรมถ่ายเทของเสียที่เป็นโลหะลงสู่แหล่งน้ำ  โลหะเหล่านี้จะสะสมอยู่ในพืชและสัตว์ที่อาศัยในแหล่งน้ำ เมื่อเราบริโภคพืชหรือสัตว์เหล่านั้น  เราก็จะได้รับสารพิษดังกล่าว  
               - พิษจากยาฆ่าแมลงตกค้าง  ปัจจุบันยาฆ่าแมลง หรือยาปราบศัตรูพืช ซึ่งสังเคราะห์มาจากสารเคมี เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในด้านการเกษตร  และการสาธารณสุข  บางชนิดสลายตัวได้ยาก และตกค้างกระจัดกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อม  ทำให้พืชดูดรับสารพิษเหล่านั้นมาสะสมไว้  เมื่อเรานำมาปรุงอาหาร  จึงมีโอกาสได้รับสารตกค้างเหล่านั้นด้วย
           2.2 สิ่งเจือปนในอาหารโดยเจตนา  อาหารที่บริโภคบางอย่างอาจใส่สิ่งปรุงแต่งลงไปโดยมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง เช่น รักษาคุณภาพอาหารให้เก็บไว้ได้นาน สารบางอย่างใส่ให้เกิดรส สี กลิ่น ตามความต้องการหรืออาจทำให้อาหารกรอบน่ารับประทาน ทั้งนี้เพื่อหวังผลทางการค้าเป็นสำคัญ  สารเจือปนที่สำคัญ ได้แก่
               2.2.1 สารปรุงแต่งสี สีสังเคราะห์ทุกชนิด ถือเป็นสารสังเคราะห์ที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และเมื่อสะสมอยู่ในปริมาณมากทำให้เกิดอันตราย จึงจำเป็นต้องใช้ในปริมาณที่จำกัด นอกจากนี้ ต้องไม่มีสารที่ทำให้เกิดพิษ หรือมีโลหะต่างๆ เจือปน ควรใช้สีสังเคราะห์ที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาต หรือ เป็นสีจากธรรมชาติ เช่น สีดำจากผงถ่าน สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากขมิ้น สีเขียวจากใบเตย เป็นต้น                   
               2.2.2 สารปรุงแต่งรส   ได้แก่
                   - สารสังเคราะห์รสหวาน หรือ น้ำตาลเทียม เป็นสารอนินทรัย์ที่สังเคราะห์ขึ้น มีความหวานกว่าน้ำตาลมาก รู้จักกันทั่วไปว่า ขัณฑสกร สารเหล่านี้ไม่มีคุณค่าในการให้พลังงานแต่อย่างใด อาจทำให้ท้องเสียได้
                   - สารชูรส มีผู้นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้อาหารอร่อย บดบังกลิ่นที่ไม่ต้องการ เรามักเรียกว่า ผงชูรส ในอดีตวัตถุดิบราคาแพงจึงมีการปลอมปนกันมาก แต่ปัจจุบันราคาถูการปลอมปนจึงลดลง บางคนที่แพ้ผงชูรสอาจมีอาการมึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศรีษะ เป็นต้น
                   - น้ำส้มสายชู ในท้องตลาดเป็นน้ำส้มสายชูเทียม บางแห่งมีการปลอมปนโดยใช้กรดกำมะถันเจือจาง ซึ่งมีอันตรายต่อกระเพาะอาหารและลำไส้มาก 
                   - น้ำปลา  เนื่องจากผู้ผลิตบางรายพยายามลดต้นทุนการผลิต โดยใช้เกลือต้มและเจือปนวัตถุบางอย่าง ทำให้คุณภาพลดลง และอาจเป็นอันตรายได้
               2.2.3 สารปรุงแต่งลักษณะหรือสารที่เกิดจากกระบวนการผลิตอาหาร
                    - ผงบอแรกซ์ หรือน้ำประสานทอง หรือผงกรอบ เป็นสารที่ห้ามใช้เพราะปกติใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ ผู้ที่รับประทานเข้าไปอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ้ารับประทานมากอาจเกิดโรคมะเร็ง มักพบในอาหารที่กรุบกรอบ เช่น ลูกชิ้นเนื้อเด้ง ทอดมันปลากราย มะม่วงดอง เป็นต้น
                    - สารเพิ่มความคงตัว ใส่ในอาหารเพื่อให้รวมตัวเป็นเนื้อเดียวกัน มีอความอยู่ตัวเป็นก้อนหรือแท่ง เช่น ไอศครีม ขนมอบ เป็นต้น
               2.2.4 สารปรุงแต่งกลิ่น เป็นสารกลุ่มใหญ่ที่สุด โดยมีทั้งกลิ่นจากธรรมชาติและจากสารสังเคราะห์ คณะกรรมการอาหารและยายังไม่สามารถบอกความเป็นพิษได้หมดทุกชนิด 
               2.2.5 สารกันบูด  ในการถนอมอาหารมักใส่สารที่เรียกว่าวัตถุกันเสียลงไป เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ยีสต์และเชื้อรา เพื่อให้อาหาร ยาหรือเครื่องสำอางเก็บไว้ได้นาน วัตถุกันเสียที่นิยมใช้และไม่เป็นอันตราย คือ โซเดียมเบนโซเอต หรือกรดเบนโซอิต ถ้ารับประทานมากเกินไปจะทำให้กระเพาะอาหาร และระบบทางเดินอาหารผิดปกติได้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น