วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                  
                  ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สิ่งต่าง ๆ(สิ่งแวดล้อม) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมนุษย์ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น บรรยากาศ ดิน น้ำ ป่าไม้ ทุ่งหญ้า สัตว์ป่า แร่ธาตุ พลังงาน และกำลังแรงงานมนุษย์ เป็นต้น

                  โดยคำนิยามแล้วจะเห็นได้ว่า ทรัพยากรธรรมชาติทุกประเภทนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งแวดล้อมทุกชนิดไม่เป็นทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งอาจกล่าวสรุป ได้ว่าการที่จะจำแนกสิ่งแวดล้อมใด ๆ เป็นทรัพยากรธรรมชาตินั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ
                 - ประการแรก เกิดจากความต้องการของ มนุษย์ที่จะนำสิ่งแวดล้อมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ กับตนเอง                
                 - ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงตาม กาลเวลา ถ้ายังไม่นำมาใช้ก็เป็นสิ่งแวดล้อม แต่ ถ้านำมาใช้ประโยชน์ได้ก็จะกลายเป็นทรัพยากรธรรมชาติในช่วงเวลานั้น ๆ                
                 - ประการที่สาม สภาพภูมิศาสตร์และ ความห่างไกลของสิ่งแวดล้อม ถ้าอยู่ไกลเกินไปคนอาจไม่นำมาใช้ ก็จะไม่สามารถแปรสภาพเป็นทรัพยากรธรรมชาติได้


                 สิ่งแวดล้อม หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต รวมทั้งที่เป็นรูปธรรม (สามารถจับต้องและมองเห็นได้) และนามธรรม (ตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมแบบแผน ประเพณี ความเชื่อ) มีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายอีกส่วนหนึ่ง อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ สิ่งแวดล้อมเป็นวงจรและวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ

                 นอกจากนี้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มคละกันไปโดยอยู่ร่วมกันอย่างมีกฎ ระบบ ข้อบังคับทั้งที่เกิดขึ้น เองโดยธรรมชาติและทั้งที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาการอยู่เป็นกลุ่มของสรรพสิ่งเหล่านี้ จะแสดงพฤติกรรมร่วมกันภายในขอบเขตและแสดงสรรพสิ่ง เหล่านี้จะเรียกว่า ระบบนิเวศ หรือระบบสิ่งแวดล้อม  นั่นเอ

ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติ
ในโลกนี้มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายทั้งในอากาศ บนผิวโลก ใต้ผิวโลก มีสภาพทั้งของแข็ง ของเหลวก๊าซ บางชนิดมีการเจริญเติบโตได้ บางชนิดไม่เติบโตแต่มีการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น เกิดการผุพังสลายไปนักอนุรักษ์วิทยาได้แบ่งประเภทของทรัพยากรธรรมชาติไว้ 3 ประเภทคือ
1) ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่หมดสิ้น (Non-Exhausting Natural Resources) หรือทรัพยากรธรรมชาติที่มีใช้ตลอด (Inexhuastible Natural Resources) เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ บางชนิดมนุษย์ขาดเป็นเวลานานได้ บางชนิดขาดไม่ได้แม้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ก็อาจถึงตายได้ ทรัพยากรดังกล่าวได้แก่
ก) อากาศ มีอยู่อย่างสมบูรณ์ในโลก จำเป็นและสำคัญต่อมนุษย์ สัตว์ พืช สิ่งมีชีวิตทุกชนิด
ข) น้ำ (ในวัฏจักร) หมายถึง น้ำในลักษณะการเก็บน้ำแล้วแปรสภาพเป็นน้ำไหลบ่า น้ำท่า น้ำในลำน้ำ น้ำใต้ดิน น้ำขัง และน้ำในมหาสมุทร
มีความจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต มีการหมุนเวียน ไม่จบสิ้น โดยทั่วไปมีปริมาณคงที่ในแต่ละแห่งของแต่ละปี นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรแสงอาทิตย์ ดิน ชั้นบรรยากาศ เป็นต้น



2) ทรัพยากรธรรมชาติที่ทดแทนได้ (Replaceable or Renewable Natural Resources) เป็นทรัพยากรที่มีความจำเป็นต่อมนุษย์ในการดำรงชีพเพื่อตอบสนองปัจจัยสี่และ ความสะดวกสบาย เมื่อใช้แล้วสามารถเกิดทดแทนขึ้นได้ ซึ่งการทดแทนนั้นอาจใช้ระยะเวลาสั้นหรือยาวนานไม่เท่ากัน ทรัพยากรดังกล่าวได้แก่
   ก) น้ำที่ใช้ได้ หมายถึงน้ำในที่ใดที่หนึ่งเมื่อใช้หมดแล้ว จะมีการทดแทนได้ด้วยฝนที่ตกตามปกติ ในแต่ละแห่งจะมีฝนตกเกือบเท่า ๆ กันในแต่ละปี นอกจากเกิดความแห้งแล้งผิดปกติเท่านั้น
                   ข) ดิน เป็นปัจจัยสำคัญที่ให้อาหารเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ซึ่งกำเนิดจากพื้นดิน ปัจจัยที่ทำให้เกิดดิน คือ หิน อากาศ พืช ระยะเวลา ลักษณะภูมิประเทศ การทดแทนต้องใช้ระยะเวลานาน
นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรชนิดอื่นอีก เช่น ทรัพยากรประมง ทรัพยากรเกษตร (พืชผัก เนื้อสัตว์) พืช สัตว์ป่า ป่าไม้ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

3) ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป (Exhausting Natural Resources) หรือทรัพยากรที่ไม่สามารถทดแทนได้ (Irreplaceable Natural Resources) เป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถจะทำมาทดแทนได้ เมื่อใช้หมดไป เช่น แร่ โลหะ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน เป็นต้น ซึ่งทรัพยากรดังกล่าวจำเป็นมากต่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนอกจากนี้พื้นที่ในลักษณะ ธรรมชาติ (Land in Natural Condition) ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ทดแทนไม่ได้ เพราะเมื่อถูกทำลายลงแล้ว ไม่สามารถทำให้เหมือนสภาพเดิมได้ทั้งในส่วนประกอบต่าง ๆ และทัศนียภาพ

ประเภทของสิ่งแวดล้อม
จากความหมายของสิ่งแวดล้อมดังกล่าวสามารถแบ่งสิ่งแวดล้อมได้เป็น 2 ประเภท คือ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (Natural environment) และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Mode Environment)
1. สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ( Natural Environment)
        แบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย คือ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต) และสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต
        1. 1 สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต (Abiotic Environment) แบ่งได้ดังนี้
             1.1.1 บรรยากาศ (Atmosphere) หมายถึงอากาศที่ห่อหุ้มโลก ประกอบด้วย กา๙ชนิดต่างๆ เช่น โอโซน ไนโตรเจน ออกซิเจน อาร์กอน คาร์บอนไดออกไซด์ ฝุ่นละออง และไอน้ำ
             1.1.2 อุทกภาค (Hydrosphere) หมายถึงส่วนที่เป็นน้ำทั้งหมดของพื้นผิวโลก ได้แก่ มหาสมุทร ทะเล แม่น้ำ ฯลฯ
             1.1.3 ธรณีภาค หรือ เปลือกโลก(Lithosphere) หมายถึง ส่วนของโลกที่เป็นของแข็งห่อหุ้มอยู่รอบนอกสุด ของโลกประกอบด้วยหินและดิน

        1.2 สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต (Biotic Environment) ได้แก่ พืช สัตว์ และมนุษย์

2 . สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น(Man-Mode Environment)
        แบ่งได้ 2 ประเภทดังนี้
        2.1 สิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม (Concrete Environment) ได้แก่ บ้านเรือน ถนน สนามบิน เขื่อน โรงงาน วัด

        2.2 สิ่งแวดล้อมที่เป็นนามธรรม (Abstract Environment)ได้แก่ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา กฎหมายระบบเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง เป็นต้น

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาด โดยใช้ให้น้อย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการใช้ให้ยาวนาน และก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมทั้งต้องมีการกระจายการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ในสภาพปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเสื่อมโทรมมากขึ้น ดังนั้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมีความหมายรวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถกระทำได้หลายวิธี ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้
1. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยทางตรง ซึ่งปฏิบัติได้ในระดับบุคคล องค์กร และระดับประเทศ ที่สำคัญ คือ
            1) การใช้อย่างประหยัด คือ การใช้เท่าที่มีความจำเป็น เพื่อให้มีทรัพยากรไว้ใช้ได้นานและเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
            2) การนำกลับมาใช้ซ้ำอีก สิ่งของบางอย่างเมื่อมีการใช้แล้วครั้งหนึ่งสามารถที่จะนำมาใช้ซ้ำได้อีก เช่น ถุงพลาสติก กระดาษ เป็นต้น หรือสามารถที่จะนำมาใช้ได้ใหม่โดยผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การนำกระดาษที่ใช้แล้วไปผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อทำเป็นกระดาษแข็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการลดปริมาณการใช้ทรัพยากรและการทำลายสิ่งแวดล้อมได้
            3) การบูรณซ่อมแซม สิ่งของบางอย่างเมื่อใช้เป็นเวลานานอาจเกิดการชำรุดได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีการบูรณะซ่อมแซม ทำให้สามารถยืดอายุการใช้งานต่อไปได้อีก
            4) การบำบัดและการฟื้นฟู เป็นวิธีการที่จะช่วยลดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรด้วยการบำบัดก่อน เช่น การบำบัดน้ำเสียจากบ้านเรือนหรือโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ส่วนการฟื้นฟูเป็นการรื้อฟื้นธรรมชาติให้กลับสู่สภาพเดิม เช่น การปลูกป่าชายเลน เพื่อฟื้นฟูความ      สมดุลของป่าชายเลนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น
            5) การใช้สิ่งอื่นทดแทน เป็นวิธีการที่จะช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยลงและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การใช้ใบตองแทนโฟม การใช้พลังงานแสงแดดแทนแร่เชื้อเพลิง การใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี เป็นต้น
            6) การเฝ้าระวังดูแลและป้องกัน เป็นวิธีการที่จะไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย เช่น การเฝ้าระวังการทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำ คูคลอง การจัดทำแนวป้องกันไฟป่า เป็นต้น


2.  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยทางอ้อม สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
            1) การพัฒนาคุณภาพประชาชน โดนสนับสนุนการศึกษาด้านการอนุรักษ์ทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องตามหลักวิชา ซึ่งสามารถทำได้ทุกระดับอายุ ทั้งในระบบโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ และนอกระบบโรงเรียนผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการอนุรักษ์ เกิดความรักความหวงแหน และให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง
            2) การใช้มาตรการทางสังคมและกฎหมาย การจัดตั้งกลุ่ม ชุมชน ชมรม สมาคม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตลอดจนการให้ความร่วมมือทั้งทางด้านพลังกาย พลังใจ พลังความคิด ด้วยจิตสำนึกในความมีคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีต่อตัวเรา เช่น กลุ่มชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของนักเรียน นักศึกษา ในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร มูลนิธิโลกสีเขียว เป็นต้น
            3) ส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ช่วยกันดูแลรักษาให้คงสภาพเดิม ไม่ให้เกิดความเสื่อมโทรม เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตในท้องถิ่นของตน การประสานงานเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาชน ให้มีบทบาทหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครอง ฟื้นฟูการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
            4) ส่งเสริมการศึกษาวิจัย ค้นหาวิธีการและพัฒนาเทคโนโลยี มาใช้ในการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีสารสนเทศมาจัดการวางแผนพัฒนา การพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ให้มีการประหยัดพลังงานมากขึ้น การค้นคว้าวิจัยวิธีการจัดการ การปรับปรุง พัฒนาสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เป็นต้น

ความสำคัญและแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
               มนุษย์เรามีความสัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิดทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในการดำรงชีวิตจึงอาจกล่าวถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติได้เป็น ๔ ประการดังนี้ คือ
               1. เป็นแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และผลิตผล
               2. เป็นที่รองรับกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์และช่วยเกื้อกูลให้ชีวิตดำรงอยู่ได้
               3. เป็นแหล่งรองรับของเสีย และของเหลือเศษจากขบวนการผลิตและการบริโภค
               4. ให้ความรื่นรมย์แก่จิตใจของมนุษย์ เช่น ทิวทัศน์ ภูมิประเทศ ความงามของธรรมชาติ

              ดังนั้น บริการต่างๆ ที่มนุษย์เราได้รับจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงช่วยให้มีชีวิตรอดอยู่ไดและสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการรู้จักใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาด (Wise Use) และมีการจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นระบบอย่างเหมาะสม โดยจะต้องคำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน(Sustainable Utilization)เพราะหากมีการตักตวงใช้ประโยชน์ที่มากเกินขนาด และขาดความระมัดระวังในการใช้ ก็ย่อมจะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจนกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อชีวิต และความเป็นอยู่ของมนุษย์ในที่สุด


แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน โดยดำเนินการ ดังนี้ 
- แก้ไขแนวคิดและจิตสำนึกของคนให้มีความรู้ความเข้าใจว่า สิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อความอยู่รอดของมนุษย์และสิ่งที่มีชีวิตซึ่งทุกคนต้องมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบ
                - เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในท้องถิ่น เช่น การบริโภคทั้งกินและใช้ ต้องใช้และกินอย่างประหยัด เพราะปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่จำกัด ใช้ทรัพยากรธรรมชาติทุกอย่างให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และนานที่สุด

มลภาวะสิ่งแวดล้อม


มลสารและแหล่งมลสาร

             มลพิษ  หมายถึง  ภาวะของสภาพแวดล้อม  ที่มีองค์ประกอบไม่เหมาะต่อการนำมากใช้ประโยชน์ แต่กลับเป็นพิษหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่มนุษย์ เช่น อากาศที่มีก๊าซต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สภาพแวดล้อมที่มีเสียงต่างๆ รบกวนมาก ดินที่มีการสะสมของยาฆ่าแมลงศัตรูพืชสูง น้ำที่มีคราบน้ำมัน เป็นต้น  สารที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษ เรียกว่า สารมลพิษ
              สารมลพิษ  คือ  ตัวมลพิษหรือสารวัตถุอื่นใดก็ตามที่สร้างอันตรายหรือความเปลี่ยนแปลงอันไม่น่าพึงพอใจให้กับสิ่งมีชีวิตรายตัว  ต่อประชากร ชุมชน หรือระบบนิเวศ เกินกว่าสภาพที่จะสามารถพบโดยทั่วไปในสิ่งแวดล้อม

มลภาวะทางอากาศ
             ภาวะมลพิษทางอากาศ (Air Pollution) หมายถึง ภาวะที่อากาศมีการเจือปนของสารหรือสิ่งปนเปื้อนในปริมาณที่มากพอ ทำให้อากาศเสื่อมคุณภาพเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และพืช มลสาร (Pollutant) ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศมีทั้งในรูปของแข็ง ฝุ่นละออง ไอระเหยหรือก๊าซ รวมทั้งกลิ่น เขม่า ควัน สารกัมมันตรังสี สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ปรอท ตะกั่ว ออกไซด์ของไนโตรเจน และคาร์บอน เป็นต้น


มลพิษทางน้ำ
              ภาวะมลพิษทางน้ำ ( Water Pollution ) หมายถึง สภาวะที่น้ำมีคุณภาพเปลี่ยนไปจากธรรมชาติเดิม จนมีสภาพที่เลวลง และส่งผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในน้ำ  
ลักษณะของภาวะมลพิษทางน้ำ
       1. น้ำที่มีสารอินทรีย์ปนอยู่มาก จุลินทรีย์ที่มีอยู่ก็จะมีการเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วโดยมีการใช้ออกซิเจน จึงมีผลทำให้ปริมาณออกซิเจนละลายอยู่ในน้ำเหลือน้อย ในบางครั้งจะเห็นน้ำมีสีดำคล้ำ และส่งกลิ่นเหม็น เนื่องจากการย่อยสลายของแบคทีเรียชนิดที่ไม่ใช้ออกซิเจนมีการปล่อยก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่าออกมา
       2. น้ำที่มีเชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ โปรโตซัว เชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคทางเดินอาหาร โรคตับ โรคพยาธิและโรคผิวหนัง เป็นต้น
       3. น้ำที่มีคราบน้ำมันหรือไขมันเจือปนในปริมาณมากจะเป็นอุปสรรคต่อการถ่ายเทออกซิเจนลงสู่แหล่งน้ำ หรือการดำรงชีวิตของสัตว์และพืชน้ำ
       4. น้ำที่มีเกลือละลาย ซึ่งอาจละลายจากดินลงมาหรือน้ำทะเลไหลซึมเข้ามาเจือปนจนน้ำเสื่อมคุณภาพไม่เหมาะในการใช้อุปโภค บริโภคหรือการเกษตรกรรม
       5. น้ำที่มีสารพิษเจือปน เช่น สารประกอบของปรอท ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู เมื่ออยู่ในระดับอันตรายจะส่งผลต่อสัตว์น้ำและคนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น บริโภคพืชผัก สัตว์น้ำ
       6. น้ำที่มีสารกัมมันตภาพรังสีเจือปน อาจเกิดขึ้นได้จากธรรมชาติจากการสลายตัวของแร่หินหรือเกิดจากโรงงานนิวเคลียร์ปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ
       7. น้ำที่มีสารแขวนลอย ได้แก่ น้ำที่มีสิ่งต่างๆ แขวนลอยอยู่จำนวนมาก ทำให้น้ำมีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เกี่ยวกับความโปร่งแสง สี เป็นต้น
       8. 
น้ำที่มีอุณหภูมิสูง ส่วนใหญ่เกิดจากการระบายน้ำหล่อเย็นจากโรงงานอุตสาหกรรมลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และการแพร่พันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในน้ำ 


มลพิษทางเสียง
               ภาวะมลพิษทางเสียง ( Noise Pollution )  หมายถึง สภาวะเสียงที่ดังเกินไปจนก่อให้เกิดความรำคาญ หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบการได้ยินของมนุษย์และสัตว์
แหล่งกำเนิดภาวะมลพิษทางเสียง
              1. การจราจร มาจากยานพาหนะประเภทต่างๆ เช่น รถไฟ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก เรือหางยาว และเครื่องบิน เป็นต้น
              2. สถานประกอบการต่างๆ ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง อู่ซ่อมรถ เป็นต้น
              3. ชุมชนและสถานบริการ ได้แก่ เสียงจากคนหรือเครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ และเสียงในย่านธุรกิจการค้า สถานบันเทิงเริงรมย์ เป็นต้น 
ระดับเสียงจากกิจกรรมต่าง ๆ



มลภาวะจากขยะ
          ขยะมูลฝอย( Solid Waste ) หมายถึง เศษสิ่งเหลือใช้และสิ่งปฏิกูลต่างๆ ซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และสัตว์ รวมถึงสิ่งอื่นใดที่เก็บกวาดจากถนน ตลาด หรือที่อื่นๆ ทั้งจากการผลิต การบริโภค การขับถ่าย การดำรงชีวิต และอื่นๆ
ประเภทของขยะ
       1. ขยะเปียก หมายถึง ขยะที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น เศษอาหาร พืชผัก เปลือกผลไม้ เป็นต้น
       2. ขยะแห้ง หมายถึง ขยะที่ย่อยสลายได้ยาก เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ เศษผ้า ไม้ ยาง เป็นต้น
       3. ขยะอันตราย ได้แก่ สารเคมี วัตถุมีพิษ ซากถ่านไฟฉาย หลอดไฟ และขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาล



มลภาวะจากของเสียอันตราย        
             ของเสียอันตราย (Hazardous Waste) หมายถึง ของเสียใดๆ ที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ รวมทั้งกาก ตะกอน หรือสิ่งตกค้างที่อยู่ในสภาพทั้งของแข็ง ของเหลว และก๊าซ 
ประเภทของของเสียอันตราย
       ของเสียอันตรายแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ตามคุณสมบัติของของเสียอันตราย ได้แก่ 
           1. ประเภทติดไฟง่าย เช่น ตะกอนน้ำมัน ตะกอนสี เป็นต้น
           2. ประเภทสารกัดกร่อน เช่น น้ำยาฟอกขาว น้ำยาขัดพื้น เป็นต้น
           3. ประเภทที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาระเบิดเมื่อสัมผัสกับน้ำหรืออากาศ เช่น สารเคมีที่เสื่อมสภาพ
           4. ประเภทสารพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง สารปราบศัตรูพืช เป็นต้น
           5. ประเภทวัตถุระเบิด เช่น พลุ ดอกไม้ไฟ ดินประสิว เป็นต้น
           6. ประเภทสารที่สามารถชะล้างได้ เป็นสารที่ไม่ใช้แล้ว มีปริมาณโลหะหนักหรือวัตถุมีพิษปนเปื้อนอยู่ในน้ำสกัดนั้น เท่ากับหรือมากกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น ตะกั่ว ปรอท เป็นต้น
           7. ประเภทกากกัมมันตรังสี เป็นวัตถุที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้ว อาจอยู่ในรูปของแข็งหรือของเหลวที่มีการเปรอะเปื้อนด้วยสารกัมมันตรังสีในระดับความแรงของรังสีสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
           8. 
ประเภทที่ทำให้เกิดโรค เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ 


มลพิษทางอาหาร
              อาหารเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์  มนุษย์ต้องบริโภคอาหารวันละหลายๆ มื้อ ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายเกิดพลังงานสามารถเคลื่อนไหวไปมา และกระทำกิจกรรมต่างๆ ได้   ทั้งนี้อาหารที่มนุษย์บริโภคเข้าไปนั้นต้องสะอาด ปราศจากเชื้อโรค และสิ่งเจือปนที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย  หากในอาหารมีสิ่งแปลกปลอมเจอปน  ร่างกายจะเกิดปฏิกริยาต่อต้านขึ้น เราสามารถแบ่งสารแปลกปลอมออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
       1. พิษที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของอาหารเอง  เช่น  เห็ดพิษ  ผักหวานป่า  ปลาบางชนิด  หอย  แมงดาทะเล  เป็นต้น
       2. พิษที่เกิดจากการเจือปน  แบ่งเป็นประเภทย่อยๆ ได้ดังนี้
           2.1 สิ่งเจือปนในอาหารที่ไม่เจตนา ได้แก่             
               - จุลินทรีย์ในอาหาร  ที่อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ กัน เช่น จากแหล่งกำเนิดที่ไม่สะอาด  วัตถุดิบมีคุณภาพต่ำ  กรรมวิธีการผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ  การรักษาความสะอาดของผู้ปรุงอาหาร    ตลอดจนภาชนะที่ใช้ในการบรรจุอาหาร  ซึ่งพิษจากจุกลินทรีย์มีหลายชนิด  เช่น  แบคทีเรีย  เชื้อรา  เชื้อไวรัส  
               - โลหะเป็นพิษในอาหาร  มนุษย์อาจได้รับพิษโลหะทางอ้อมจากพืชและสัตว์ที่รับประทาน โดยกระบวนการของห่วงโซ่อาหาร  คือ  โรงงานอุตสาหกรรมถ่ายเทของเสียที่เป็นโลหะลงสู่แหล่งน้ำ  โลหะเหล่านี้จะสะสมอยู่ในพืชและสัตว์ที่อาศัยในแหล่งน้ำ เมื่อเราบริโภคพืชหรือสัตว์เหล่านั้น  เราก็จะได้รับสารพิษดังกล่าว  
               - พิษจากยาฆ่าแมลงตกค้าง  ปัจจุบันยาฆ่าแมลง หรือยาปราบศัตรูพืช ซึ่งสังเคราะห์มาจากสารเคมี เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในด้านการเกษตร  และการสาธารณสุข  บางชนิดสลายตัวได้ยาก และตกค้างกระจัดกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อม  ทำให้พืชดูดรับสารพิษเหล่านั้นมาสะสมไว้  เมื่อเรานำมาปรุงอาหาร  จึงมีโอกาสได้รับสารตกค้างเหล่านั้นด้วย
           2.2 สิ่งเจือปนในอาหารโดยเจตนา  อาหารที่บริโภคบางอย่างอาจใส่สิ่งปรุงแต่งลงไปโดยมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง เช่น รักษาคุณภาพอาหารให้เก็บไว้ได้นาน สารบางอย่างใส่ให้เกิดรส สี กลิ่น ตามความต้องการหรืออาจทำให้อาหารกรอบน่ารับประทาน ทั้งนี้เพื่อหวังผลทางการค้าเป็นสำคัญ  สารเจือปนที่สำคัญ ได้แก่
               2.2.1 สารปรุงแต่งสี สีสังเคราะห์ทุกชนิด ถือเป็นสารสังเคราะห์ที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และเมื่อสะสมอยู่ในปริมาณมากทำให้เกิดอันตราย จึงจำเป็นต้องใช้ในปริมาณที่จำกัด นอกจากนี้ ต้องไม่มีสารที่ทำให้เกิดพิษ หรือมีโลหะต่างๆ เจือปน ควรใช้สีสังเคราะห์ที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาต หรือ เป็นสีจากธรรมชาติ เช่น สีดำจากผงถ่าน สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากขมิ้น สีเขียวจากใบเตย เป็นต้น                   
               2.2.2 สารปรุงแต่งรส   ได้แก่
                   - สารสังเคราะห์รสหวาน หรือ น้ำตาลเทียม เป็นสารอนินทรัย์ที่สังเคราะห์ขึ้น มีความหวานกว่าน้ำตาลมาก รู้จักกันทั่วไปว่า ขัณฑสกร สารเหล่านี้ไม่มีคุณค่าในการให้พลังงานแต่อย่างใด อาจทำให้ท้องเสียได้
                   - สารชูรส มีผู้นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้อาหารอร่อย บดบังกลิ่นที่ไม่ต้องการ เรามักเรียกว่า ผงชูรส ในอดีตวัตถุดิบราคาแพงจึงมีการปลอมปนกันมาก แต่ปัจจุบันราคาถูการปลอมปนจึงลดลง บางคนที่แพ้ผงชูรสอาจมีอาการมึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศรีษะ เป็นต้น
                   - น้ำส้มสายชู ในท้องตลาดเป็นน้ำส้มสายชูเทียม บางแห่งมีการปลอมปนโดยใช้กรดกำมะถันเจือจาง ซึ่งมีอันตรายต่อกระเพาะอาหารและลำไส้มาก 
                   - น้ำปลา  เนื่องจากผู้ผลิตบางรายพยายามลดต้นทุนการผลิต โดยใช้เกลือต้มและเจือปนวัตถุบางอย่าง ทำให้คุณภาพลดลง และอาจเป็นอันตรายได้
               2.2.3 สารปรุงแต่งลักษณะหรือสารที่เกิดจากกระบวนการผลิตอาหาร
                    - ผงบอแรกซ์ หรือน้ำประสานทอง หรือผงกรอบ เป็นสารที่ห้ามใช้เพราะปกติใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ ผู้ที่รับประทานเข้าไปอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ้ารับประทานมากอาจเกิดโรคมะเร็ง มักพบในอาหารที่กรุบกรอบ เช่น ลูกชิ้นเนื้อเด้ง ทอดมันปลากราย มะม่วงดอง เป็นต้น
                    - สารเพิ่มความคงตัว ใส่ในอาหารเพื่อให้รวมตัวเป็นเนื้อเดียวกัน มีอความอยู่ตัวเป็นก้อนหรือแท่ง เช่น ไอศครีม ขนมอบ เป็นต้น
               2.2.4 สารปรุงแต่งกลิ่น เป็นสารกลุ่มใหญ่ที่สุด โดยมีทั้งกลิ่นจากธรรมชาติและจากสารสังเคราะห์ คณะกรรมการอาหารและยายังไม่สามารถบอกความเป็นพิษได้หมดทุกชนิด 
               2.2.5 สารกันบูด  ในการถนอมอาหารมักใส่สารที่เรียกว่าวัตถุกันเสียลงไป เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ยีสต์และเชื้อรา เพื่อให้อาหาร ยาหรือเครื่องสำอางเก็บไว้ได้นาน วัตถุกันเสียที่นิยมใช้และไม่เป็นอันตราย คือ โซเดียมเบนโซเอต หรือกรดเบนโซอิต ถ้ารับประทานมากเกินไปจะทำให้กระเพาะอาหาร และระบบทางเดินอาหารผิดปกติได้